เมื่อลูกน้อยเปลี่ยนวัยเข้าสู่วัยทีนชั้นมัธยมต้นแล้ว เป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสติปัญญา ลูกจะเริ่มสนใจในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาและการคิดวิเคราะห์ และมีความเป็นอิสระในการตัดสินใจมากขึ้น เนื่องจากการเรียนรู้และการบ้านของลูกส่วนใหญ่จะเป็นแบบอิสระ เพื่อส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และการเรียนรู้ด้วยตนเอง ตำรับตำราในการเรียนวิชาต่าง ๆ เปลี่ยนไป มีความหลากหลายและความละเอียดซับซ้อนมากขึ้นตามลักษณะวิชาและรูปแบบของงาน ปริมาณการบ้านค่อนข้างมากจากหลายวิชา และบางครั้งอาจมีกำหนดส่งงานในวันเดียวกัน จึงส่งผลในเรื่องการจัดการเวลา และการบริหารการจัดทำการบ้านของลูก ซึ่งอาจรวมไปถึงตัวเราเองด้วยในฐานะผู้ดูแลลูก และที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเราสอนการบ้านลูกไม่ได้นี่สิ เราจะทำอย่างไรเพื่อให้ลูกไม่เสียความภูมิใจในตัวเรา
ก่อนอื่นคือเราต้องตั้งสติ พูดคุยกับลูกด้วยบรรยากาศเป็นมิตรและเอื้ออาทรว่า ทำไมลูกทำการบ้านเองไม่ได้ ซึ่งอาจเนื่องมาจากหลายสาเหตุ เช่น ลูกคุ้นชินกับการพึ่งพาเราให้ดูแลเรื่องการทำการบ้าน หรือลูกรู้สึกอึดอัดและเครียดที่ต้องทำการบ้านมากมายและซับซ้อน ยากลำบากในเรื่องการจัดการเวลาสำหรับการทำงาน หรือลูกไม่กล้าและไม่รู้จะบอกเล่าข้อจำกัดส่วนตัวกับเราอย่างไร เช่น การรับรู้ช้าทำให้เรียนไม่ทันเพื่อน และไม่เข้าใจชัดเจนในสิ่งที่คุณครูสอน หรืออาจไม่กล้าลงมือทำเองเพราะกลัวผิดพลาด และไม่มั่นใจตนเอง หรือเกิดอาการงอแงไม่อยากทำการบ้าน เพราะอยากทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน เช่น ออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ หรืออยากเล่นเกม อยากดูหนังฟังเพลง เพราะสมาธิไขว้เขวไปแล้ว หรือสภาพแวดล้อมไม่เอื้อต่อการทำการบ้านที่ต้องใช้สมาธิอย่างมาก และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม เราอย่าตำหนิลูก ให้เข้าใจธรรมชาติของลูก เพราะลูกเพิ่งผลัดเปลี่ยนวัยมาหมาด ๆ จากชั้นประถมปลายมาเป็นมัธยมต้น จึงต้องการการปรับตัว การให้กำลังใจและการผ่อนสั้นผ่อนยาวเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับลูกวัยทีน
เมื่อค้นพบสาเหตุที่แท้จริงแล้วในกรณีที่ลูกทำการบ้านเองไม่ได้ เนื่องจากงานยากและซับซ้อนเกินไป และเราเองก็ไม่สามารถช่วยลูกได้เพราะข้อจำกัดเดียวกัน แต่ลูกเราต้องส่งการบ้านตามกำหนด เราจึงต้องสื่อสารกับลูกให้รู้ว่าเรายินดีที่จะช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้เนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงก็ตาม ให้ลูกเล่าให้เราฟังถึงรายละเอียดคำสั่งงานตามที่คุณครูมอบหมาย เพื่อช่วยให้เราเข้าใจความต้องการของลูกได้ดีขึ้น หากยังไม่ชัดเจน เราอาจโทร. หาคุณครูเพื่อขอรับคำปรึกษา ซึ่งคุณครูสามารถให้คำแนะนำหรือแหล่งข้อมูลออนไลน์เพื่อการค้นคว้าเพิ่มเติมได้ เช่น Khan Academy เว็บไซต์การศึกษาที่ให้เด็ก ๆ ได้หาความรู้กันแบบฟรี ๆ, Safe Internet ห้องสมุดดิจิทัล ฯลฯ เพื่อการค้นคว้าได้ตามสะดวก สามารถค้นหาคำอธิบายและบทช่วยสอนในหัวข้อต่าง ๆ พร้อมทั้งตัวอย่างที่สามารถช่วยลูกและเราในการทำความเข้าใจเนื้อหาได้
เราสามารถจัดตั้งกลุ่มให้เพื่อนช่วยเพื่อนได้ โดยจัดทำ Zoom Meeting ระหว่างลูกเรากับเพื่อนร่วมชั้น เพื่อร่วมกันคิดค้นที่จะทำให้เข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และชวนผู้ปกครองของเด็กที่เข้ากลุ่มมาร่วมรับฟังด้วยกัน ซึ่งแนวทางการทำงานร่วมกันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเด็กทุกคน หรือหากการบ้านบางชิ้นงานมีความท้าทายเป็นพิเศษ เราอาจหาติวเตอร์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะวิชา และสามารถให้ความช่วยเหลือแบบตัวต่อตัวได้ นอกจากนี้เราสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ ด้วยการสร้างโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันสำหรับลูกและเรา ได้มีโอกาสนั่งใกล้ชิดกัน ใช้เวลาด้วยกันในการพยายามอ่านทำความเข้าใจเนื้อหา นับเป็นประสบการณ์ที่ผูกพันกันอย่างยิ่ง ลูกจะอบอุ่นใจและมั่นใจในการเรียนรู้มากขึ้น
หากเรายังคิดแก้ไขปัญหาการบ้านของลูกไม่ได้ อย่าฝืนทำกันต่อ จะทำให้ลูกและเราหงุดหงิดมากขึ้นซึ่งจะไม่เป็นประโยชน์ ให้หยุดพัก พาลูกออกไปเดินเล่น เล่นเกม และตั้งสติใหม่คลายเครียดก่อนที่จะจัดการกับปัญหาอีกครั้ง
เตรียมตัวดีมีชัยไปกว่าครึ่ง เราสามารถช่วยลูกให้มีความสุขจากการทำการบ้านหลากหลายที่แปลกใหม่ได้เอง โดยมีเราเป็นตัวช่วยสนับสนุนการทำงานของลูกได้โดยไม่ยาก เช่น สร้างพื้นที่อ่านหนังสือให้ลูก ปราศจากสิ่งรบกวนสมาธิ ห่างจากโทรทัศน์ เสียง หรือสิ่งรบกวน สอนลูกให้รู้จักทักษะการแก้ปัญหาและวิธีการขอความช่วยเหลือทั้งจากคุณครู เพื่อนร่วมชั้น หรือแหล่งข้อมูลออนไลน์ และเราจะไม่ช่วยเหลือลูกด้วยการทำการบ้านให้
เราต้องสร้างวิธีคิดเชิงบวกให้ลูกและตัวเราเอง ว่าการเรียนรู้เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ไม่มีใครรู้อะไรไปหมดทุกอย่าง การไม่สามารถหาคำตอบทั้งหมดได้ในทันทีถือเป็นเรื่องปรกติ ไม่รู้ตอนนี้ก็ค้นหากันต่อไปให้รู้จนได้ อย่าท้อเท่านั้นเป็นพอ และเราต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ลูกมีความรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น สอนลูกให้รู้จักทักษะการขอความช่วยเหลือและการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ เราต้องเป็นกำลังใจและสนับสนุนลูกในทุกขั้นตอนของการเรียนรู้และการทำการบ้านของลูก และอย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุ เกี่ยวกับปัญหาการบ้านที่ลูกไม่สามารถจัดการได้เอง ให้เวลาลูกได้ต่อสู้กับชิ้นงานที่ลูกยังไม่สามารถในตอนนี้ ซึ่งจะเป็นการสอนให้ลูกมีความมานะพากเพียรและความอดทน ในการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ด้วยตนเอง เป็นการสร้างทักษะชีวิตที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตในอนาคตของลูก และหากการบ้านที่ลูกทำไปไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ก็ไม่เป็นไร เป็นบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากความผิดพลาด และสอนให้ลูกพยายามต่อไป โดยมีเราอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจ และเป็นที่ปรึกษา ลูกก็จะไม่เสียความภูมิใจในตัวเรา
ณัณท์
ข้อมูลอ้างอิง
6 Tips on Helping Your Child with Homework You Don’t Understand
https://blog.edmentum.com/6-tips-helping-your-child-homework-you-don’t understand